ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค)

***ผลการจัดเก็บข้อมูล กชช. 2ค ปี 2560

***ผลการจัดเก็บข้อมูล กชช. 2ค ปี 2558

         

 ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค)
           คือข้อมูลหมู่บ้านที่แสดงให้เห็นสภาพทั่วไป และปัญหาของหมู่บ้านชนบทด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สภาพแรงงาน สุขภาวะ และอนามัย ความรู้และการศึกษา การมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยจากภัยพิบัติและความเสี่ยงในชุมชน เป็นข้อมูลที่จัดเก็บทุกหมู่บ้านในชนบทเป็นประจำทุก 2 ปี
           เครื่องชี้วัดสภาพปัญหาของหมู่บ้านในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) มี 7 ด้าน 33 ตัวชี้วัด มีการจัดระดับความรุนแรงของปัญหาและระดับการพัฒนาของหมู่บ้าน ทำให้ทราบลำดับความสำคัญของปัญหา และพื้นที่เป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษ

พื้นที่จัดเก็บข้อมูล กชช. 2ค
       ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล กชช. 2ค ทุกหมู่บ้านที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเขตเทศบาลตำบล (ที่ยกฐานะมาจาก อบต.)

ความสำคัญของข้อมูล กชช. 2ค
      1. เป็นข้อมูลกลางของประเทศ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารการพัฒนาชนบท และเป็นข้อมูลชุดเดียวที่จัดเก็บทุกหมู่บ้านทั่วประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยมีการนำข้อมูล กชช. 2ค มาใช้ประโยชน์ทั้งในระดับนโยบาย และการแปลงสู่การปฏิบัติของส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น
      2. เป็นข้อมูลที่หน่วยงานระดับปฏิบัติในส่วนภูมิภาค สามารถค้นหาปัญหาเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน และการส่งเสริมฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ในท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานปฏิบัติสามารถจัดสรรงบประมาณให้ตรงตามปัญหาที่พบจากข้อมูล กชช. 2ค ได้

ประโยชน์ของข้อมูล กชช. 2ค
       1. ประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ สามารถทราบถึงคุณภาพชีวิต สภาพความเป็นอยู่ และสภาพของปัญหาหมู่บ้าน/ชุมชนตนเองว่าเป็นอย่างไร ควรแก้ไขเรื่องใดบ้าง
       2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล กชช. 2ค ในการวางแผนการติดตามและประเมินผลการพัฒนาชนบท การจัดระดับการพัฒนาของหมู่บ้าน การจัดทำแผนพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาของหน่วยงานแต่ละระดับทั้งส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ และตำบล
       3. ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูล กชช. 2ค มาใช้ในการตัดสินใจ และวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อลงทุนทางธุรกิจ

การจัดระดับการพัฒนาหมู่บ้าน กำหนดไว้ ดังนี้
       - หมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 1  หมายถึง หมู่บ้านล้าหลัง
       - หมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 2  หมายถึง หมู่บ้านพัฒนาระดับปานกลาง
       - หมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 3  หมายถึง หมู่บ้านพัฒนาระดับก้าวหน้า

เครื่องชี้วัดข้อมูล กชช. 2ค ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11
        เครื่องชี้วัดข้อมูล กชช. 2ค ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) มี 7 ด้าน 33 ตัวชี้วัด ดังนี้
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มี 7 ตัวชี้วัด
    (1) ถนน
    (2) น้ำดื่ม
    (3) น้ำใช้
    (4) น้ำเพื่อการเกษตร
    (5) ไฟฟ้า
    (6) การมีที่ดินทำกิน
    (7) การติดต่อสื่อสาร
2. ด้านสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจ มี 7 ตัวชี้วัด
    (8) การมีงานทำ
    (9) การทำงานในสถานประกอบการ
    (10) ผลผลิตจากการทำนา
    (11) ผลผลิตจากการทำไร่
    (12) ผลผลิตจากการทำเกษตรอื่น ๆ
    (13) การประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือน
    (14) การได้รับประโยชน์จากการมีสถานที่ท่องเที่ยว
3. ด้านสุขภาวะและอนามัย มี 3 ตัวชี้วัด
    (15) ความปลอดภัยในการทำงาน
    (16) การป้องกันโรคติดต่อ
    (17) การกีฬา
4. ด้านความรู้และการศึกษา มี 3 ตัวชี้วัด
    (18) ระดับการศึกษาของประชาชน
    (19) อัตราการเรียนต่อของประชาชน
    (20) การได้รับการศึกษา
5. ด้านการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของชุมชน มี 5 ตัวชี้วัด
    (21) การมีส่วนร่วมของชุมชน
    (22) การรวมกลุ่มของชุมชน
    (23) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
    (24) การเรียนรู้โดยชุมชน
    (25) การได้รับการคุ้มครองทางสังคม
6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 5 ตัวชี้วัด
    (26) คุณภาพดิน
    (27) การใช้ประโยชน์ที่ดิน
    (28) คุณภาพน้ำ
    (29) การปลูกป่าและไม้ยืนต้น
    (30) การจัดการสภาพสิ่งแวดล้อม
7. ความเสี่ยงของชุมชนและภัยพิบัติ มี 3 ตัวชี้วัด
    (31) ความปลอดภัยจากยาเสพติด
    (32) ความปลอดภัยจากภัยพิบัติ
    (33) ความปลอดภัยจากความเสี่ยงในชุมชน

                  

   ระดับคะแนนตัวชี้วัด
     ระดับคะแนนในแต่ละตัวชี้วัด มี 3 ระดับ ดังนี้
        ถ้าได้ 1 คะแนน หมายถึง หมู่บ้านนั้นมีปัญหามาก (ต่ำกว่าเกณฑ์)
        ถ้าได้ 2 คะแนน หมายถึง หมู่บ้านนั้นมีปัญหาปานกลาง (อยู่ในเกณฑ์)
        ถ้าได้ 3 คะแนน หมายถึง หมู่บ้านนั้นมีปัญหาน้อย/ไม่มีปัญหา (สูงกว่าเกณฑ์)

   การจัดระดับการพัฒนาหมู่บ้าน
       
คะแนนที่ได้ในแต่ละตัวชี้วัดจะนำไปสู่การจัดระดับการพัฒนาหมู่บ้าน โดยใช้จำนวนตัวชี้วัดที่ได้ 1 คะแนน เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
          -  หมู่บ้านที่มีตัวชี้วัดที่ได้ 1 คะแนน จำนวน 11-33 ตัวชี้วัด
             จัดเป็นหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 1 (หมู่บ้านล้าหลัง)
          -  หมู่บ้านที่มีตัวชี้วัดที่ได้ 1 คะแนน จำนวน 6-10 ตัวชี้วัด
             จัดเป็นหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 2 (หมู่บ้านปานกลาง)
          -  หมู่บ้านที่มีตัวชี้วัดที่ได้ 1 คะแนน จำนวน 0-5 ตัวชี้วัด
             จัดเป็นหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 3 (หมู่บ้านก้าวหน้า)